ปรัชญาของระยะห่าง

กลับมาเล่นปิงปองอีกครั้ง หลังจากไม่ได้เล่นมานาน

แน่นอนฝีมือย่อมฝืด ตีไม่ค่อยออก เล่นไม่ดี แพ้ตลอด

ตีหนักไปบ้าง ตีติดเนตบ่อย กะระยะไม่ค่อยถูก

จนเมื่อวานได้เล่นกับผู้เล่นมือโปร สไตล์การเล่นใจเย็น ไม่รีบร้อน

เลยสังเกตลักษณะการตี พบว่าเขาอยู่ห่างโต๊ะพอสมควร

ทำให้การมอง และการโต้ พอจะมีช่วงเวลาการคิด การเล็ง

เขาจึงสามารถเลือกจุดที่ลูกจะตก วางน้ำหนักได้พอดี

ผมเลยเข้าใจปรัชญาของเรื่องนี้ทันที

หากเรารักษาระยะห่างของตัวเรากับโต๊ะปิงปอง ฝีมือการตีของเราจะดีขึ้น วางน้ำหนัก เลือกจุดตกกระทบได้มากขึ้น

ต่างจากการอยู่ใกล้โต๊ะมากเกินไป เราจะไม่ทันคิด ออกแรงโต้ตอบทันที ทางเลือกในการตีน้อย ทำให้การตีปิงปองของเราแย่ทันที

ฉันใดก็ฉันนั้น

การทำงานอื่นในชีวิตของเราก็เช่นกัน การจดจ่ออยู่กับงาน การปฏิบัติงาน บางครั้งหรือหลายครั้งที่ทำให้เราเครียด ทำงานได้ไม่ดี ผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวัง

การหา “ระยะห่าง” ที่เหมาะสมของการทำงาน อาจจะทำให้เราเห็นอะไรมากขึ้น เห็นการ flow ของลูกปิงปอง เห็นกระแสของงาน เห็น possibility ทางเลือกของการกระทำมากขึ้น และตัดสินใจได้ดีขึ้น

การทำงานไปเรื่อยๆ บางครั้งอาจทำให้เราเข้าใกล้ “โต๊ะ” มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

การทบทวน ตระหนักรู้ “จุด” ที่เรากำลังอยู่ จะทำให้เราขยับหาระยะห่างที่เหมาะสมเจอ และเมื่อเจอ จะทำให้การทำงานของเรากลับเข้าสู่จุดดุลยภาพเมื่อนั้น

นี่คือปรัชญาของระยะห่างที่ได้จากโต๊ะปิงปอง